นมัสการมาตาปิตุคุณ
ผู้แต่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
จุดประสงค์ เพื่อสรรเสริญพระคุณของบิดามารดา
นมัสการมาตาปิตุคุณ
ข้าขอนบชนกคุณ ชนนีเป็นเค้ามูล ผู้กอบนุกูลพูน ผดุงจวบเจริญวัย ฟูมฟักทะนุถนอม บ บำราศนิราไกล แสนยากเท่าไรไร บ คิดยากลำบากกาย ตรากทนระคนทุกข์ ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย ปกป้องซึ่งอันตราย จนได้รอดเป็นกายา เปรียบหนักชนกคุณ ชนนีคือภูผา ใหญ่พื้นพสุนธรา ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน เหลือที่จะแทนทด จะสนองคุณานันต์ แท้บูชไนยอัน อุดมเลิศประเสริฐคุณ”
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ไม่มีพระคุณของผู้ใดจะยิ่งใหญ่เท่ามารดา
ถอดความ บทกวีนี้ กล่าวนอบน้อมพระคุณของบิดามารดา ผู้ได้เกื้อกูลมาตั้งแต่เล็กจนเติบโต คอยเฝ้าระวังรักษาประคับ ประคองดูแลอยู่ไม่ยอมห่าง แม้จะ ลำบากเท่าไรก็อดทนได้ เลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอม ปกป้องอันตราย จนรอดพ้นอันตราย เติบใหญ่ เป็นตัวเป็นตน เปรียบประคุณของบิดามารดายิ่งกว่าภูเขา หรือแผ่นดิน สุดที่จะทดแทนพระคุณ มากล้นนี้ได้ด้วยการบูชาอันวิเศษสมบูรณ์เลิศล้ำ
นมัสการอาจริยคุณ
ผู้แต่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
จุดประสงค์ เพื่อนมัสการและสรรเสริญพระคุณของครู อาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่ ศิษย์ทั้งหลาย
นมัสการอาจริยคุณ
อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญ โอบเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์ ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม ขจัดเขลาบรรเทาโม- หะจิตมืดที่งุนงม กังขา ณอารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
ถอดความ กล่าวแสดงขอความเคารพนอบน้อมต่อครู ผู้มีความกรุณา เผื่อแผ่อบรมสั่งสอนศิษย์ทุกสิ่ง ให้มีความรู้ ทั้งความดี ความชั่ว ชั่วขยายความให้เข้าใจแจ่มแจ้ง มีเมตตากรุณา กรุณาเที่ยงตรง เคี่ยวเข็ญให้ฉลาดหลักแหลม ช่วยกำจัดความโง่เขลา ให้มีความเข้าใจแจ่มชัด พระคุณดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นเลิศในสามโลกนี้ ควรระลึกและน้อมใจชื่นชมยกย่อง
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง ครูเป็นผู้ชี้แจง อบรมสั่งสอนทั้งวิชาความรู้และความดีทางจริยธรรมพระคุณของครูนับว่า สูงสุดจะป็นรองก็เพียงแต่บิดามารดาเท่านั้น
พระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร )
งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง “ รามเกียรติ์ ” รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง
ลักษณะคำประพันธ์ประเภทอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย โดยแต่งกันเป็นคณะ มี ครุ และ ลหุ และสัมผัส กำหนดเอาไว้ด้วย ฉันท์ในภาษาไทยได้ถ่ายแบบมาจากประเทศอินเดีย ตามตำราที่เขียนถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้ เรียกว่า “ คัมภีร์วุตโตทัย ” ซึ่งแต่เดิมฉันท์จะแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต
ต่อมา เมื่อเผยแพร่ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนแบบมาแต่งในภาษาไทย โดยเพิ่มเติมสัมผัสต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ยังคงคณะ ( จำนวนคำ ) และเปลี่ยนลักษณะครุ – ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไปอีกด้วย
“ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ” มีความหมายว่า “ ฉันท์ที่มีลีลาดุจสายฟ้าของพระอินทร์ ”เป็นฉันท์ที่นิยมแต่งกันมากที่สุด มีลักษณะและจำนวนคำคล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑ แต่แตกต่างกันที่ว่าอินทรวิเชียรฉันท์มีข้อบังคับ ครุ และ ลหุ
ที่มาข้อมูล http://arawan501.wordpress.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น