วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

องค์ประกอบของภาษา


วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันถึงเรื่อง องค์ประกอบของภาษาไทย หลายคนคงจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้นะจ๊ะ วันนี้ครูออย มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาคลายความสงสัยให้แก่หลายๆๆท่านนะจ๊ะ ...เอาเป็นว่า เริ่มเรียนรู้กันเลยนะจ๊ะ...

 เสียงในภาษาไทย มี  ๓  ชนิด  คือ 
เสียงสระ  เสียงพยัญชนะ  เสียงวรรณยุกต์

๑. เสียงสระ คือ เสียงที่เกิดจากลมผ่านเส้นเสียง ซึ่งเกร็งตัวชิดกันปิดช่องทางเดินลมจนสั่นสะบัดแล้วออกไปทางช่องปากหรือจมูก  โดยที่ไม่ถูกสกัดกั้น  ณ  ที่ใดที่หนึ่งในช่องทางเดินลม  แต่มีการใช้ลิ้นและริมฝีปากกล่อมเกลาเสียงให้แตกต่างกันไปได้หลายเสียง
ลักษณะสำคัญของเสียงสระมี  ๒  อย่าง คือ  เป็นเสียงสั่นสะบัดหรือเสียงก้อง  และเป็นเสียงผ่านออกไปโดยตรง บางครั้งจึงได้ชื่อว่า   เสียงแท้


๒. เสียงพยัญชนะ  คือ  เสียงที่เกิดจากลมผ่านเส้นเสียง ซึ่งอาจสั่นสะบัดหรือไม่ก็ได้ แล้วถูกสกัดกั้นทั้งหมดหรือบางส่วน ณ ที่ใดที่หนึ่งในช่องทางเดินลม เช่น เพดานอ่อน  เพดานแข็ง ปุ่มเหงือก ฟัน  ริมฝีปากและลิ้น  ก่อนจะปล่อยออกมาทางช่องปากหรือช่องจมูก
ลักษณะสำคัญของเสียงพยัญชนะ  คือ  เป็นเสียงที่ถูกกักก่อนที่จะผ่านออกไปทางช่องปากหรือช่องจมูก  บางครั้งเรียกว่า  เสียงแปร

๓. เสียงวรรณยุกต์  คือ   เสียงที่มีการเปลี่ยนระดับสูงต่ำโดยเส้นเสียง  และเปล่งออกมาพร้อมกับเสียงสระ  บางครั้งเรียกว่า  เสียงดนตรี


  เสียงสระ
เสียงสระ  คือ  เสียงที่เปล่งออกมาจากปอด  หลอดลม  กล่องเสียง  ผ่านลำคอ  ช่องปาก  ช่องจมูก  โดยสะดวก  ลมที่เปล่งออกมาจะไม่ถูกสกัดกั้นจากอวัยวะใดๆ  ในปาก  แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับของลิ้นและรูปริมฝีปาก  ขณะที่ออกเสียง  เส้นเสียงที่อยู่ในกล่องเสียงจะปิด
และเปิดอย่างรวดเร็ว  เส้นเสียงจึงมีความสั่นสะเทือน  เกิดความกังวาน  ซึ่งเรียกว่า  เสียงก้อง  เสียงสระจะออกเสียงให้ยาวนาน  เช่น  อา  อี  อู  โอ เราเรียกเสียงนี้ว่า  เสียงแท้  เสียงสระเป็นเสียงที่ช่วยให้พยัญชนะออกเสียงได้  เพราะเสียงพยัญชนะจะต้องอาศัยเสียงสระช่วยในการออกเสียง  เสียงสระในภาษาไทยมี ๒๑ เสียง


การจำแนกเสียงสระเสียงสระในภาษาไทยมี  ๒๑  เสียง  จำแนกตามลักษณะต่างๆ  ดังต่อไปนี้

๑. สระเดี่ยว  มี  ๑๘  เสียง  แบ่งเป็นสระเสียงสั้น  ๙  เสียง  สระเสียงยาว  ๙  เสียง   การเกิดเสียงสระเดี่ยว   เมื่อลมผ่านเส้นเสียงมาในช่องปาก     จะถูกลิ้นและริมฝีปากกล่อมเกลาเสียง    ซึ่งอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

๒. สระประสม   มี  ๓  เสียง*          สระประสมเกิดจากสระเดี่ยวสองเสียง      เปล่งเสียงออกมาในระยะกระชันชิดกันจนฟังดูเหมือนเปล่งออกมาครั้งเดียว  แต่สามารถสังเกตการเกิดเสียงสระประสมได้ โดยการสังเกตลิ้นมีการเปลี่ยนระดับและริมฝีปากเปลี่ยนลักษณะขณะออกเสียง


การเกิดเสียงสระประสม
-     เอียะ เอีย       ใช้ลิ้นและริมฝีปากทำเสียงสระ  อิ  อี  ก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นทำเสียงสระ  อะ  อา

-   เอือะ  เอือ      ใช้ลิ้นและริมฝีปากทำเสียงสระ  อึ อื  ก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นทำเสียงสระ  อะ  อา

-   อัวะ  อัว         ใช้ลิ้นและริมฝีปากทำเสียงสระ  อุ  อู ก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นทำเสียงสระ  อะ  อา

สระเกิน  มี   ๘  รูป  ไม่นับเป็นเสียงสระ  เพราะมีเสียงพยัญชนะประสมอยู่กับเสียงสระเดี่ยว 




เสียงพยัญชนะ
เสียงพยัญชนะ  คือ  การที่ลมออกมาจากปอด  ผ่านหลอดลม  กล่องเสียง  เส้นเสียง   สู่ช่องปาก  หรือช่องจมูก  โดยใช้ลิ้นกล่อมเกลาเสียงให้กระทบกับเพดาน  ปุ่มเหงือก  ฟัน  หรือให้ริมฝีปากกระทบกัน  เสียงที่เกิดขึ้นจะถูกสกัดกั้นในลำคอ  ช่องปากหรือช่องจมูก  โดยอาจจะถูกสกัดกั้นไว้ทั้งหมดหรือถูกสกัดกั้นเพียงบางส่วน  เสียงที่เกิดขึ้นลักษณะนี้เรียกว่า  เสียงแปร เสียงที่แปรเกิดเป็นเสียงพยัญชนะต่างๆ   จำนวน  ๒๑  เสียงและมีอักษรแทนเสียงพยัญชนะจำนวน  ๔๔  รูป


อวัยวะทำให้เกิดเสียงพยัญชนะต่างกัน
พยัญชนะเกิดจากลมที่ถูกดันออกมาจากปอดผ่านมาตามหลอดลม  กระทบเส้นเสียงในหลอดลม แล้วผ่านมาถึงลำคอ  ลมที่ออกมานี้จะถูกกักกันไว้ในส่วนต่างๆ ของปากบางส่วนหรือถูกกักไว้ทั้งหมด  แล้วจึงปล่อยลมนั้นออกมาทางปากหรือขึ้นจมูกก็ได้  ทำให้เรารู้สึกว่าการออกเสียงพยัญชนะไม่สะดวกเท่ากับการออกเสียงสระ     จุดที่ลมถูกกักกั้นแล้วปล่อยให้ลมออกมานั้นเป็นที่เกิดของเสียงพยัญชนะ   เราเรียกว่า  ที่เกิด  ที่ตั้ง  หรือฐานกรณ์  พยัญชนะมีที่เกิดหลายแห่งดังนี้

๑.  เส้นเสียง  ใช้เส้นเสียงทั้งสองกักลม แล้วปล่อยออกมาเป็นเสียงพยัญชนะ ได้แก่  เสียง  อ  ฮ

๒.  เพดานอ่อน ใช้ลิ้นกับเพดานอ่อนกักลมแล้วปล่อยออกมาจากลำคอ  เป็นเสียงพยัญชนะ
ได้แก่  เสียง  ก  ค  ง  ว

๓.  ปุ่มเหงือก-เพดานแข็ง  ใช้ลิ้นไปแตะปุ่มเหงือก-เพดานแข็งกักลม  แล้วปล่อยลมออกมาเป็น
เสียงพยัญชนะ ได้แก่ เสียง  จ  ช

๔.  เพดานแข็ง  ใช้ลิ้นไปแตะที่เพดานแข็งกักลมแล้วปล่อยลมออกมาก  เป็นเสียงพยัญชนะ ได้แก่
เสียง  ย

๕. ปุ่มเหงือก  ใช้ลิ้นแตะที่ปุ่มเหงือกกักลมแล้วปล่อยออกมาเป็นเสียงพยัญชนะ ได้แก่ ซ  ด  น  ร   ล

๖.  ฟันบน-ปุ่มเหงือก  ใช้ลิ้นไปแตะที่ฟันบน-ปุ่มเหงือกกักลม แล้วปล่อยลมออกมาเป็นเสียง
พยัญชนะ ได้แก่  เสียง ต ท
๗.  ริมฝีปากล่างและฟันบน  ใช้ริมฝีปากล่างกับฟันบนกักลมไว้บางส่วนเกิดเป็นเสียงพยัญชนะ
ได้แก่ เสียง ฟ

๘.  ริมฝีปาก   ใช้ริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างกักลมแล้วปล่อยออกมาเป็นเสียงพยัญชนะได้แก่เสียง
บ  ป  พ  ม  ว


คุณสมบัติและประเภทของเสียงพยัญชนะ
๑. คุณสมบัติของเสียงพยัญชนะ  แบ่งเป็น  ๔ ลักษณะ  ดังนี้

๑.๑. พยัญชนะเสียงก้อง คือ เสียงที่เกิดขึ้นจากการถูกลมดันออกมากระทบเส้นเสียง
อย่างแรง  ทำให้เส้นเสียงสะบัดมาก  เสียงที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเสียงก้อง  มี ๑๐ เสียง  คือ บ  ด  อ  ม  ง  ร  ล  ว  ย

๑.๒. พยัญชนะเสียงไม่ก้อง คือ  เสียงที่เกิดจากลมที่ถูกดันออกมาขณะที่เส้นเสียงอยู่ในลักษณะเปิด  ลมพุ่งออกมาโดยสะดวก  ไม่สั่นสะเทือนแรงมากนักจะมีลักษณะเสียงไม่ก้อง  มี  ๑๑ เสียง คือ ก ค ป พ ต ท จ ช ฟ ซ ฮ

๑.๓. พยัญชนะเสียงหนัก คือ  พยัญชนะเสียงไม่ก้อง  ที่ขณะออกเสียงมีลมจำนวนหนึ่งพุ่งออกมาด้วย  มี  ๔  เสียง  คือ  พ  ท  ซ  ค

๑.๔. พยัญชนะเสียงเบา  คือ พยัญชนะที่ขณะออกเสียงไม่มีกลุ่มลมพุ่งตามมามี ๔ เสียง  คือ ป  ต  จ  ก

๒. ประเภทของเสียงพยัญชนะ สามารถแยกได้เป็น  ๖  ประเภท  ดังนี้

๒.๑. เสียงพยัญชนะระเบิด  คือ  พยัญชนะที่เกิดจากลมถูกกักไว้ในช่องปาก  แล้วให้ลมพุ่งออกมาอย่างรวดเร็ว  มี  ๑๑ เสียง  คือ  ก  ค  จ  ช  ด  ต ท บ ป พ อ

๒.๒. พยัญชนะเสียงเสียดแทรก  คือ  พยัญชนะที่เกิดจากลมที่พุ่งออกมา  แล้วถูกบีบตัวให้เสียดแทรกออกมา  เช่น  เสียง  ฟ  ซ  ฮ

๒.๓. พยัญชนะเสียงนาสิก  คือ   พยัญชนะที่เกิดจากลมดันออกมาทางจมูก    เช่น  เสียง ง    ม    น

๒.๔. พยัญชนะเสียงกระทบ  คือ  พยัญชนะที่เกิดจากเสียงที่ลมผ่านออกมาแล้วกระทบลิ้นที่กระดกขึ้นไปแตะปุ่มเหงือกแล้วสะบัดลงอย่างรวดเร็วเพียงครั้งเดียว ได้แก่ เสียง   ร

๒.๕. พยัญชนะข้างลิ้น  คือ  เสียงพยัญชนะที่เกิดจากลมที่ลิ้นกักเอาไว้  แล้วยกขึ้นไปแตะปุ่มเหงือก  ปล่อยให้ลมออกมาทางข้างลิ้น  เรียกว่า  พยัญชนะข้างลิ้น  ได้แก่  เสียง  ล

๒.๖. พยัญชนะกึ่งสระ  คือ    เสียงพยัญชนะที่เกิดขึ้นจากลำคอและเปล่งเสียงออกมา โดยไม่ถูกสกัดกั้นคล้ายเสียงสระ  ได้แก่  เสียง   ว  ย


เสียงวรรณยุกต์
เสียงวรรณยุกต์  คือ  เสียงที่มีทำนองสูง  ต่ำ เหมือนเสียงดนตรี  เราจะได้ยินเสียงวรรณยุกต์ขณะที่เราออกเสียงพยัญชนะหรือออกเสียงสระ  เสียงวรรณยุกต์ขณะออกเสียงจะใช้ลิ้นเกล่อมเกลาเสียง จึงเกิดเป็นเสียงสูงต่ำ  บางเสียงอยู่ระหว่างเสียงสูงกับเสียงต่ำ  บางทีก็เป็นเสียงต่ำแล้วค่อยๆ เลื่อนไปสู่เสียงสูง  เราเรียกเสียงเสียงสูงต่ำเหมือนเสียงดนตรีนี้ว่า  เสียงวรรณยุกต์  หรือ  เสียงดนตรี


เสียงวรรณยุกต์มี  ๕  เสียง  คือ  เสียงสามัญ  เสียงเอก  เสียงโท  เสียงตรี  และเสียงจัตวา เสียงวรรณยุกต์มีความสำคัญมาก  เพราะเสียงที่มีระดับเสียงต่ำสูงต่างกัน  ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป


เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยมาตรฐาน มี  ๕  เสียง คือ

๑. เสียงสามัญ  คือ เสียงระดับปานกลางและมีระดับคงที่ตลอดไป       แต่ตกตอนท้ายนิดหนึ่ง เช่น กา  นอน  ใน  รัง   ไม่มีรูปวรรณยุกต์  ปรากฏเสียงสามัญเฉพาะในคำเป็นเท่านั้น  คำตายไม่มีเสียงสามัญ

๒. เสียงเอก  คือ   เสียงที่เริ่มต้นระดับต่ำกว่าเสียงสามัญเล็กน้อย    แล้วลดระดับต่ำกว่าเสียงสามัญ คำเป็น  เสียงคงที่ชั่วระยะหนึ่งแล้วค่อยๆ ลดลงเล็กน้อย    เช่น  ด่าง  แข่ง  ต่อ  สู่  มีรูปวรรณยุกต์เอก (   ่ )   คำตาย เสียงจะคงระดับตลอด เช่น  เด็ก   กัด  จะ  เจ็บ  ไม่มีรูปวรรณยุกต์

๓. เสียงโท คือ เสียงที่เริ่มต้นระดับสูงสุดแล้วค่อยๆ ลดระดับลงมาต่ำที่สุด ในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและสูงจะมีรูปวรรณยุกต์โท  (   ้ )  เช่น ด้าน  ต้าน สู้ ห้า หากพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำเป็นจะมีรูปวรรณยุกต์เอก (   ่ )    เช่น  ท่อ  ที่   ย่า  ล่าง  ว่าน   คู่   แม่   แน่น    ถ้าพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตายจะไม่มีรูปวรรณยุกต์  เช่น  ลาด  มาก

๔. เสียงตรี คือ เสียงที่เริ่มต้นสูงกว่าเสียงสามัญเล็กน้อย  คำตาย เสียงคงระดับสูงและตกลงตอนท้ายเล็กน้อย  ในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางจะมีรูปวรรณยุกต์ตรี   (   ๊ )  เช่น   ก๊าซ     จ๊ะ   โต๊ะ  โป๊ะ   หากพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตายจะไม่มีรูปวรรณยุกต์   เช่น  คิด ลึก นะ  ส่วน คำเป็น เสียงคงระดับสูงไปตลอดในคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางจะมีรูปวรรณยุกต์ตรี  (   ๊ ) เช่น  ป๊า  ด๊า  โต๊ะ  ถ้าพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำจะมีรูปวรรณยุกต์โท  (   ้ )   เช่น  รู้   แล้ว   คล้อง   ไว้   ค้าน  แท้

๕. เสียงจัตวา คือ เสียงที่เริ่มในระดับต่ำสุดแล้วลดต่ำลงอีก ต่อจากนั้นเปลี่ยนระดับขึ้นสูงสุด ในคำที่มีพยัญชนะต้นอักษรกลางคำเป็นจะมีรูปวรรณยุกต์จัตวา  (   ๋ ) เช่น  ป๋า   ก๋า  หากพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงคำเป็นจะไม่มีรูปวรรณยุกต์  เช่น หนู  เห็น  เขา  สูง  ไหม


ลักษณะเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทย  มี    ๒  พวก  คือ
ก.       วรรณยุกต์เสียงระดับ  มีระดับเสียงค่อนข้างคงที่ไปตลอด  มี  ๓  เสียง  คือ สามัญ  เอก  ตรี

ข.      วรรณยุกต์เสียงเลื่อน มีการเปลี่ยนแปลงระดับเสียง มี  ๒  เสียง คือ โท เลื่อนจากสูงลงต่ำ

จัตวา เลื่อนจากต่ำขึ้นไปสูง


ความสำคัญของเสียงวรรณยุกต์

เสียงวรรณยุกต์เป็นตัวกำหนดความหมายของคำให้มีความแตกต่างกัน และช่วยให้สำเนียงการพูดมีระดับเสียงสูงต่ำเกิดความไพเราะ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับวรรณยุกต์

๑. คำไทยทุกคำต้องมีเสียงวรรณยุกต์ คำที่ใช้ในภาษาไทย มีทั้งคำที่มีและไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ แต่ทุกคำจะต้องมีเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเสียงวรรณยุกต์อาจไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ที่กำกับอยู่ก็ได้

๑.๑ คำที่มีรูปวรรณยุกต์และเสียงตรงกับรูปวรรณยุกต์  เช่น
- คำว่า  การ”                 ไม่มีรูปวรรณยุกต์     เสียงวรรณยุกต์  คือ เสียงสามัญ
- คำว่า สิ่ง”   มีรูปวรรณยุกต์เอก   เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงเอก
- คำว่า ห้ามมีรูปวรรณยุกต์โท     เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงโท
- คำว่า โต๊ะ”   มีรูปวรรณยุกต์ตรี     เสียงวรรณยุกต์  คือ เสียงตรี
- คำว่า  ป๋า”      มีรูปวรรณยุกต์จัตวา  เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงจัตวา

๑.๒. คำที่ออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ เช่น
- คำว่า แพร่ น่า  เที่ยว”   มีรูปวรรณยุกต์เอก แต่ออกเสียงเป็นวรรณยุกต์โท
- คำว่า น้า    ค้า  ไม้”     มีรูปวรรณยุกต์โท แต่ออกเสียงเป็นวรรณยุกต์ตรี

๑.๓. คำในภาษาไทยทุกคำจะมีเสียงวรรณยุกต์ทั้งหมด แม้ว่าคำนั้นจะไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ตาม เช่น
- คำว่า ยายไม่มีรูปวรรณยุกต์  เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงสามัญ
- คำว่า ปัดไม่มีรูปวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงเอก
- คำว่า นาคไม่มีรูปวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงโท
- คำว่า คิดไม่มีรูปวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงตรี
- คำว่า สาย”  ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงจัตวา

             ๒. คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว เมื่อเติมวรรณยุกต์แล้ว อาจจะออกเสียงสั้น หรืออาจจะคงเสียงยาวตามเดิมก็ได้

๒.๑. เติมรูปวรรณยุกต์แล้วออกเสียงสั้น เช่น  เดน –  เด่น, เลน -  เล่น

๒.๒. เติมรูปวรรณยุกต์แล้วยังคงออกเสียงยาวตามเดิม เช่น หาม  ห้าม, ดวง ด้วง


พยางค์  และคำ
          ความหมายของพยางค์
          พยางค์เกิดจากการเปล่งเสียงพยัญชนะ เสียงสระและเสียงวรรณยุกต์ตามกันออกมาอย่างกระชั้นชิด จนฟังดูเหมือนกับเปล่งเสียงออกมาในครั้งเดียวกัน   ซึ่งเรียกว่า   การประสมเสียงในภาษา เสียงที่เกิดจากการประสมเสียง จึงเรียกว่า พยางค์
พยางค์  คือ เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ  ซึ่งมีเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ  เสียงวรรณยุกต์และบางพยางค์อาจจะมีเสียงพยัญชนะท้าย  พยางค์อาจจะเป็นคำก็ได้ถ้าพยางค์นั้นมีความหมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
กิน           เป็น  ๑  พยางค์  ๑  คำ
สามี         เป็น  ๒  พยางค์  ๑  คำ
นาฬิกา     เป็น  ๓  พยางค์  ๑  คำ


          องค์ประกอบของพยางค์
พยางค์ในภาษาไทยมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย ๓ ส่วน คือ

๑.  เสียงพยัญชนะต้น ได้แก่ เสียงพยัญชนะที่เปล่งออกมาก่อนเสียงอื่น พยัญชนะต้นอาจเป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว หรือพยัญชนะต้นควบ เช่น ก้าง กับ กว้าง ตัวอักษรที่พิมพ์ตัวหนาเป็นพยัญชนะต้นเดี่ยวและต้นควบตามลำดับ

๒. เสียงสระ ได้แก่ เสียงที่ออกตามเสียงพยัญชนะอย่างรวดเร็ว ทำให้พยัญชนะต้นออกเสียงได้ชัดเจน เสียงสระอาจเป็นสระเดี่ยวเสียงสั้น สระเดี่ยวเสียงยาว หรือสระประสมเสียงใดเสียงหนึ่ง

๓.  เสียงวรรณยุกต์ ได้แก่  เสียงสูงต่ำที่เปล่งออกมาพร้อม ๆ กับเสียงสระ
นอกจากนี้พยางค์บางพยางค์อาจมีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นอีก ๑ ส่วน คือ เสียงพยัญชนะท้ายหรือเสียงตัวสะกด

พยัญชนะสะกดในภาษาไทยมี ๘ เสียง ได้แก่ เสียงพยัญชนะในแม่ กก กด กบ กง กน กม เกย เกอว ดังนี้

๑.  เสียงสะกดแม่ กก ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียงเหมือนเสียง ก สะกด เช่น พก  มุข  นาค  เมฆ

๒. เสียงสะกดแม่ กด ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียงเหมือน ด สะกด เช่น มด  ราชกิจ  ทศพิต  คช ก๊าซ  เศษ อาพาธ  อากาศ โอกาส  พัฒนา

๓.  เสียงสะกดแม่ กบ ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียงเหมือน  บ สะกด  เช่น ปรับ  บาป  ภาพ  กราฟ
๔.  เสียงสะกดแม่ กง ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียง  ง สะกด เช่น  คง  พง  ปลง

๕.  เสียงสะกดแม่  กน  ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียงเหมือน  น สะกด  เช่น ทน หล  กร กาฬ  หาญ  ไพรสณฑ์

๖.  เสียงสะกดแม่  กม  ได้แก่ พยัญชนะสะกดที่มีเสียง ม สะกด  เช่น กลม บังคม  ธรรม

๗.  เสียงสะกดแม่   เกย  ได้แก่  พยัญชนะที่มีเสียง   ย  สะกด  เช่น  เชย    เลย   กาย   ขาย    โกย

๘.  เสียงสะกดแม่   เกอว  ได้แก่  พยัญชนะที่มีเสียง   ว  สะกด  เช่น  ขาว   แล้ว   เสียว    เอว   เร็ว
พยางค์ที่ไม่มีพยัญชนะท้าย  เรียกว่า   พยางค์เปิด
พยางค์ที่มีพยัญชนะท้าย  เรียกว่า   พยางค์ปิด


            องค์ประกอบของคำ
                        คำมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับพยางค์ คือ
๑. เสียงพยัญชนะต้น
๒. เสียงสระ
๓. เสียงวรรณยุกต์
๔.เสียงพยัญชนะท้าย หรือเสียงมาตราตัวสะกด ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มี ก็แล้วแต่คำ
๕.ความหมาย ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคำที่ต้องมี
คำอาจมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ก็ได้
คำพยางค์เดียว เช่น  ลุง  ป้า  น้า  พ่อ  แม่  พี่  น้อง  กิน  นั่ง  นอน  เดิน

คำหลายพยางค์ เช่น  บิดา  มารยาท  ศีรษะ  นาฬิกา  สบาย  ทะเล

เป็นไงกันบ้างจ๊ะ กับการเรียนรู้ในบทเรียนนี้ ยังไง ก็ขอให้โชคดีกับความรู้ใหม่ๆนี้นะจ๊ะ แล้วบกันใหม่ในการเรียนรู้เรื่องต่อไปนะจ๊ะ...



ข้อมูลอ้างอิง จาก http://crutape.wordpress.com

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ครุ และ ลหุ

ครุ และ ลหุ

หลายท่านคงเคยเจอกับความสับสน ในเรื่องของครุ และลหุ
ใช่ไหมค่ะ วันนี้ ครูออยมีคำตอบมาให้ท่านแล้วค่ะ 
ติดตามที่วิดีโอชุดนี้ได้เลยนะค่ะ  หากท่านยังมีข้อสงสัย 
เชิญโพสแสดงความคิดเห็นได้เลยนะค่ะ 
แล้วครูออยจะกลับมาตอบข้อข้องใจให้นะค่ะ   
โชคดีกับการเรียนรู้เลยค่ะ.....^-^

สรุปง่ายๆๆแบบนี้นะค่ะ....เกี่ยวกับ คำครุ  ลหุ

ครุ  (     )  มีลักษณะดังนี้
                ๑.   คำที่มีตัวสะกด
                ๒.  คำที่ประสมด้วยสระ  อำ  ใอ  ไอ  เอา
                ๓.  คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด
ลหุ  (       )  มีลักษณะดังนี้
          ๑.    คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด
แถมๆๆๆๆๆให้อีกนิดนะค่ะ เกี่ยวกับ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  ค่ะ 
แผนผังบังคับ

มัทนะพาธา ( ตำนานรักดอกกุหลาบ )

มัทนะพาธา
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

ลักษณะคำประพันธ์ บทละครเรื่องมัทนะพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์ แต่งด้วยฉันท์สลับกาพย์ ซึ่งถือว่าเป็นของแปลก แต่งยากและยังไม่เคยมีกวี คนใดแต่งมาก่อนจึงได้รับการยกย่องว่า เป็นบทละครพูดคำฉันท์ยอดเยี่ยม
วัตถุประสงค์ในการแต่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระราชประสงค์เบื้องต้นเพื่อเป็นหนังสือกวีนิพนธ์สำหรับอ่านเท่านั้น แต่ มีผู้สนใจขอให้จัดแสดงละครจึงทรงนำมาใช้เป็นบทสำหรับเล่นละครพูด นอกจากนี้ได้ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษแต่ไม่ทันเสร็จก็สวรรคตเสียก่อน

ที่มาของเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องมัทนะพาธาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยทรง พระราชนิพนธ์โครงเรื่องขึ้นด้วยจินตนาการของพระองค์เอง คำว่า มัทนะพาธา แปลว่า ความเจ็บหรือเดือดร้อนแห่งความรัก หรือได้ชื่อว่า เป็นตำนานแห่งดอกกุหลาบ บทละครพูดคำฉันท์มี ๕ องก์ และคณะ กรรมการวรรณคดีสโมสรมีมติให้หนังสือบทละครพูดคำฉันท์เรื่อง มัทนะพาธาเป็น บทละครพูดคำฉันท์ยอดเยี่ยมเมื่อ

เนื้อเรื่องย่อ สุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางฟ้าชื่อมัทนา แต่นางไม่ได้รักตอบ เพราะอดีตชาติสุเทษณ์ได้เคยยกกองทัพไปทำลายบ้านเมืองของนางมัทนา และจับพระบิดาประหาร เมื่อนางมัทนาปฏิเสธความรัก สุเทษณ์จึงสาปให้เกิด เป็นดอกกุพชะกะ (ดอกกุหลาบ) ในคืนวันเพ็ญจึงจะเป็นคนได้ และเมื่อเกิด ความรักในบุรุษใดจึงจะไม่กลายเป็นดอกกุพชะกะอีกแต่จะได้รับความทุกข ์ จากรัก นางมัทนาจึงมาเกิดเป็นต้นกุพชะกะ ฤาษีกาละทรรศินมาพบจึง นำไป ไว้ในอาศรม นางมัทนาจะอยู่ปรนนิบัติพระฤาษีเยี่ยงบิดาทุกคืนวันเพ็ญต่อมา ท้าวชัยเสนเสด็จประพาสป่ามาพบนางมัทนาจึงเกิดความรักได้ขอนางมัทนา ต่อพระฤาษี ทั้งสองได้อภิเษกสมรส นางจัณฑีมเหสีเอกเกิดความหึงหวง จึงให้พระบิดายกทัพมาชิงเมือง ท้าวชัยเสนออกรบ ระหว่างนั้นนางจัณฑีทำ อุบายให้ท้าวชัยเสนเข้าพระทัยผิดว่านางมัทนารักกับศุภางค์ทหารเอก จึงรับ สั่งให้นำไปประหารชีวิต แต่พราหมณ์โสมทัตได้ปล่อยนางมัทนาไป นางมัทนามีความทุกข์จากความรัก จึงทำพิธีขอพรต่อสุเทษณ์จอมเทพ สุเทษณ์ขอความรัก นางไม่ยอมจึงสาปให้นางเป็นต้นกุหลาบตลอดไป ต่อมา ท้าวชันเสนทราบความจริงจึงออกติดตามพบแต่ต้นกุพชะกะจึงนำมาไว้ใน พระราชวัง

คุณค่าที่ได้รับ -เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นหนังสือ ยอดเยี่ยม ประเภทบทละครพูดคำฉันท์
- เป็นหนังสือที่มีเนื้อเรื่องสนุกสนานก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ แก่ผู้อ่านได้ดี มีคำพูดที่เป็นคารมคมคายและเป็นคติธรรม

ที่มาของข้อมูล http://202.143.150.150/48144/muttana.html

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2485 ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย[2]
ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก[3]
ที่มาของข้อมูล http://th.wikipedia.org



ตัวละครสำคัญ
ชาวฟ้า
สุเทษณะเทพบุตร์: ผู้หลงรักนางมัทนาอย่างหมดหัวใจจนอาจจะกลายเป็นความลุ่มหลง อันเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมแห่งความรักนี้ขึ้น

จิตระเสน: จิตระเสน หัวหน้าคนธรรพ์ ได้จัดแสดงการร่ายรำถวายแด่สุเทษณะเทพบุตร์  เพื่อหวังคลายความเศร้า ความทุกข์ของสุเทษณะเทพบุตร์ แต่ไม่เป็นผล

จิตระรถ: จิตระรถสาระถีคนเก่งได้ท่องเที่ยวไปในทุกที่และวาดรูปนางงามมากำนัลสุเทษณะเทพบุตร เพื่อหวังให้สุดเทษณะเทพบุตรได้พึงใจและลืมนางมัทนาต้นเหตุแห่งความเศร้าซึม

มายาวิน: วิทยาธร ผู้มีวิชาอาคมใช้เวทย์มนต์เรียกนางมัทนามาพบสุเทษณะเทพบุตร์ทั้งๆที่ยังหลับไหล อันเป็นบ่อเกิดแก่โทสะของสุเทษณะเทพบุตร์ต่อนางมัทนา

นางมัทนา: หญิงงามผู้เป็นเหยื่อของความรักที่นางไม่ได้ต้องการ

ชาวดิน
พระกาละทรรศิน : ฤาษีในป่าหิมมะวัน ผู้ที่ดูแลดอกกุหลาบมัทนาเยี่ยงบุตรี

โสมะทัต: หัวหน้าศิษย์ของพระกาละทรรศิน

นาค และ ศุน: ศิษย์ของพระกาละทรรศิน และเป็
นผู้พบดอกกุหลาบมัทนา

ท้าวชัยเสน: ราชาผู้ทรงครองเมืองรหัสตินาปุระ มีอัครมเหสีอยู่แล้ว แต่ก็ยังพึงใจนางมัทนา จนรับนางกลับวัง

พระนางจัณฑี: อัครมเหสีแห่งท้าวชัยเสน ที่น้อยอกน้อยใจผัว จนถึงขั้นอิจฉาริษยานางมัทนาอันเป็นเหตุให้นางออกอุบายชั่วร้ายทั้งต่อผัวและนางที่ผัวรัก

วิทูร: พราหมณ์หมอเสนห์ ผู้เป็นนักแสดงตัวเก่งที่ใส่ไคล้นางมัทนา

ศุภางค์: นายทหารคนสนิทของท้าวชัยเสน แม้ถูกใส่ความและถูกสั่งประหารชีวิตจากท้าวชัยเสน แต่ก็จงรักภักดิ์ดีจนชีวีหาไม่ในสนามรบ

นันทิวรรธนะ: อมาตย์ของท้าวชัยเสน จิตใจดีรักความยุติธรรม ได้ปล่อยศุภางค์ผู้บริสุทธ์ไป

ปริยัมวทา: นางกำนัลของท้าวชัยเสน จงรักภักดีทั้งต่อท้าวชัยเสนและนางมัทนา  นางอยู่กับนางมัทนาจนวินาทีสุดท้าย ก่อนที่นางมัทนาจะกลายร่างเป็นดอกกุหลาบตลอดกาล

อราลี: นางค่อมข้าหลวงพระนางจัณฑี

เกศินี: ข้าหลวงพระนางจัณฑี ผู้เป็นนักแสดงอีกคนในละครใส่ไคล้นางมัทนา

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=107910